สสส. เฮ…สนับสนุนราชภัฏประสบความสำเร็จ ผลิต นศ.ครูชั้นปี 1 ผ่านหลักสูตรสมองกับการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยรุ่นแรกของไทย กว่า 1,300 คน

สสส. เฮ…สนับสนุนราชภัฏประสบความสำเร็จ ผลิต นศ.ครูชั้นปี 1 ผ่านหลักสูตรสมองกับการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยรุ่นแรกของไทย กว่า 1,300 คน

ในภาพอาจจะมี 16 คน, คนที่ยิ้ม, รองเท้า

 

ในภาพอาจจะมี 2 คน, ผู้คนกำลังนั่งไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

นับเป็นความสำเร็จก้าวสำคัญของภาคีเครือข่ายทั้ง 3 องค์กร ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สภาคณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ และสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) ที่ได้ร่วมกันยกระดับขีดความสามารถของมหาวิทยาลัยราชภัฏ สถาบันหลักในการผลิตครูของชาติจนเกิดผลสำเร็จ โดยภายหลังการลงนามความร่วมมือทางวิชาการในเดือนมีนาคม 2562 ที่ผ่านมา มีการพัฒนาหลักสูตรครูการศึกษาปฐมวัย (4 ปี) รายวิชา “สมองกับการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย” ขึ้น แล้วนำไปจัดอบรมให้กับอาจารย์คณะครุศาสตร์ สาขาการศึกษาปฐมวัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง จำนวนกว่า 165 คน ให้เข้าใจถึงหลักการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า Executive Functions (EF) และธรรมชาติการเรียนรู้ของสมอง พบว่า เมื่ออาจารย์เปลี่ยนกระบวนการสอน บรรยากาศในชั้นก็เปลี่ยนไป นักศึกษาเห็นคุณค่าในตัวเอง เห็นเป้าหมายปลายทาง ต่างสะท้อนเป็นเสียงเดียวกัน “หนูรู้แล้วว่า…ความหมายของวิชาชีพครูคืออะไร”
ความรู้เกี่ยวกับทักษะสมอง Executive Functions หรือ EF ซึ่งหมายถึงความสามารถระดับสูงของสมองมนุษย์ที่ใช้ในการควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ชี้ชัดว่า การพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า (EF) ของคนเราใช้ระยะเวลายาวนานจากขวบปีแรก จนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น อายุประมาณ 25-30 ปี โดยช่วงปฐมวัย อายุ3-6 ปี เป็นช่วงเวลาสำคัญเพราะมีอัตราการพัฒนาได้ดีที่สุด ที่จะปลูกฝังทักษะ EF ให้มีประสิทธิภาพจนเป็นบุคลิกภาพและรากฐานของทักษะการเรียนรู้ของคนๆ นั้นไปตลอดชีวิต หากพ้นช่วงเวลานี้ไปแล้ว โอกาสพัฒนาทักษะสมองที่จะนำชีวิตให้มีสุขภาวะที่ดีได้ในทุกมิติก็จะลดลง

นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี ในฐานะภาคีเครือข่ายและตัวแทนของ สสส. ในการบริหารโครงการความร่วมมือกับราชภัฏในครั้งนี้ เปิดเผยว่า หลังจากการอบรมหลักสูตร มีมหาวิทยาลัยราชภัฏจำนวน 24 แห่งที่ได้จัดทำหลักสูตรครูการศึกษาปฐมวัย 4 ปีแล้วเสร็จ ได้เปิดสอนรายวิชา “สมองกับการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย” ให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 ทันที มีนักศึกษาชุดแรกของรายวิชาใหม่นี้เข้าเรียนจำนวนไม่น้อยกว่า 1,300 คน โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏอีก 7 แห่งเปิดสอนในภาคเรียนที่ 2 และอีก 3 แห่งนำไปบูรณาการสอนในรายวิชาที่เกี่ยวข้อง
ในการนี้เราได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย Thailand EF Partnership ด้านวิชาการ อาทิ อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาปฐมวัย ผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ปี 2562 ทำหน้าที่ครูใหญ่ของโครงการฯ มี ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองกับการเรียนรู้ในเด็กปฐมวัย จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหลักในการวางโครงสร้างของหลักสูตรและนำหลักการเรียนรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือ Transformative Learning มาเสริมหลักสูตร รวมถึงการทำการวิจัยประเมินผล อีกทั้งยังมี ผศ.วิริยาภรณ์ อุดมระติ ผู้เชี่ยวชาญสาขาจิตวิทยาพัฒนาการ ดร.ปิยวลี ธนเศรษฐกร ผู้เชี่ยวชาญเทคนิค 101 วินัยเชิงบวก และอีกหลายๆ ท่านร่วมกันในทุกขั้นตอน นับตั้งแต่การพัฒนาหลักสูตรฯ ช่วงเดือนพฤษภาคม การอบรมหลักสูตรฯ ให้กับอาจารย์ราชภัฏสาขาปฐมวัยช่วงเดือนมิถุนายน และการ Monitor ติดตามการเรียนการสอนของอาจารย์ราชภัฏในภาคเรียนที่ 1 ปี 2562 ที่ผ่านมา
จากการถอดบทเรียนและการลงพื้นที่ติดตามผล พบว่าแม้อาจารย์และนักศึกษาราชภัฏจะมีความกังวลในช่วงต้น เพราะเป็นรายวิชาใหม่ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสมองซึ่งเป็นเรื่องยาก แต่อาจารย์ราชภัฏสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับตัวเองได้ โดยเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนกระบวนการสอน จากการเน้นสอนเนื้อหา เป็นการมุ่งสร้างเจตคติที่ดี การเห็นคุณค่าในตนเองต่อวิชาชีพครูและต่อเด็กปฐมวัยให้กับนักศึกษาก่อน เปลี่ยนจากจะสอน “อะไร” เป็น “นักศึกษาจะได้เรียนรู้อย่างไร” เปลี่ยนจากการบรรยายประกอบ power point หันมาสร้างการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมลงมือปฏิบัติที่นักศึกษามีโอกาสเป็นผู้เลือกเองได้มากขึ้น ทำให้ห้องเรียนวิชาสมองกับการเรียนรู้ที่คิดว่าจะยาก เปลี่ยนเป็นห้องเรียนที่มีความสุข สนุก น่าค้นหา

ซึ่งผลกระทบต่อตัวนักศึกษา พบว่า นักศึกษามีวินัยที่เกิดจากตัวผู้เรียนเอง ไม่มาสาย ไม่ขาดเรียน กระตือรือร้น ทำงานร่วมกันได้ เปิดใจทั้งกับเพื่อนและอาจารย์ เชื่อมโยงความรู้เรื่อง EF จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติได้ นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ สามารถออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ ไม่ลอกเลียนใคร และสามารถนำไปทดลองใช้กับเด็กปฐมวัย แล้วกลับมาวิเคราะห์เชื่อมโยงองค์ความรู้เรื่องการทำงานของสมองส่วนคิด พัฒนาการและพฤติกรรมของเด็กได้อย่างเข้าใจ ทั้งนี้ เป็นผลิตผลที่เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนการสอนของอาจารย์ตามหลักการ Transformative Learning ที่สร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงมาจากภายใน เป็นการเรียนรู้ที่จะสร้างทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับผู้เรียนได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ผลการวิจัย พบว่า หลังจากนักศึกษาครูปฐมวัยเข้าเรียนวิชา สมองและการเรียนรู้ ตามหลักการบูรณาการสมองและการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง นอกจากนักศึกษาจะมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องทักษะสมอง EF มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติแล้ว นักศึกษายังตระหนักในความสำคัญของวิชาชีพครูปฐมวัยมากขึ้น และมีการรับรู้ความสามารถของตนเองในการจัดประสบการณ์เรียนรู้ตามหลักการบูรณาการสมองและการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อส่งเสริมทักษะสมอง EF ในเด็กปฐมวัยมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติอีกด้วย เป็นที่ทราบกันดีว่า ช่วงปฐมวัย เป็นเวลาทองที่สำคัญต่อการส่งเสริมพัฒนาการ และทักษะสมอง EF การเตรียมครูปฐมวัยให้มีความพร้อมในการส่งเสริมพัฒนาการทักษะสมอง EF เด็กปฐมวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ กล่าวถึงการบรรลุความสำเร็จข้อแรกของการพัฒนาความร่วมมือระหว่าง สสส. สถาบันอาร์แอลจี และสภาคณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ ในการพัฒนาหลักสูตรรายวิชาสมองกับการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยว่า เป็นความสำเร็จที่น่าพอใจและน่ายินดียิ่ง ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีสำหรับก้าวต่อๆ ไปของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ในการสร้างมาตรฐานคุณภาพของมหาวิทยาลัยราชภัฏให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สมกับที่เป็นสถาบันหลักในการผลิตครูของชาติ ที่บุคลากรมีคุณภาพ มีศักยภาพและขีดความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมด้านการจัดการศึกษา ที่มีหลักวิชาการทันยุคทันสมัย มีงานวิจัยรองรับเชื่อถือได้ ตอบโจทย์นโยบายของชาติทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่อๆ ไป
สำหรับความร่วมมือ 3 ฝ่ายในระยะที่สองนั้น แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ (1) ปี 2563 พัฒนาอาจารย์ที่ผ่านการอบรมเพื่อเป็นวิทยากรด้านการพัฒนาทักษะสมอง EF จำนวนประมาณ 38 คน เพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมองค์ความรู้และทักษะกระบวนการ EF ให้กับคณาจารย์ราชภัฏต่อเชื่อมกับสถาบันอาร์แอลจี และภาคีวิชาการ Thailand EF Partnership ให้เข้าใจเรื่องสมองกับการเรียนรู้ให้แม่นยำมากยิ่งขึ้น (2) ปี 2564 ร่วมพัฒนาหลักสูตรและจัดการอบรมให้กับอาจารย์สาขาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะสมอง EF เช่น ประถมศึกษา หรือมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อทำให้ “รอยเชื่อมต่อ” ของการศึกษาไทยเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาพลเมืองคุณภาพของไทยอย่างแท้จริง โอกาสนี้สภาคณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ ขอขอบคุณ สสส. และสถาบันอาร์แอลจี ที่เป็นกัลยาณมิตร สนับสนุนและร่วมกันขับเคลื่อนโครงการฯ นี้ด้วยดีมาโดยตลอด เมื่อโครงการฯ นี้สำเร็จลงได้ครบถ้วนสมบูรณ์ เชื่อว่าจะเกิดคุณูปการแก่การศึกษาของชาติเป็นอย่างยิ่งต่อไปในอนาคตแน่นอน

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*